วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2557

อยากประหยัดภาษี ซื้อประกันชีวิตดีมั้ย วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันครับ

อยากประหยัดภาษี...ซื้อประกันดีมั้ย



อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตในช่วงส่งท้ายปลายปี

“อยากประหยัดภาษี ซื้อประกันชีวิตดีมั้ย” วันนี้เรามาคุยเรื่องนี้กันครับ

ก่อนจะคุยเรื่องซื้อดีมั้ย เราต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินกรณีเสียชีวิต (อาจรวมถึงทุพพลภาพ) ซึ่งเหมาะกับบุคคลซึ่งมีภาระทางการเงิน เป็นกำลังหลักในการดูแลรับผิดชอบเรื่องเงินๆ ทองๆ ของครอบครัว ซึ่งหากบุคคลดังกล่าวเป็นอะไรไป ก็จะส่งผลกระทบด้านการเงินต่อคนในครอบครัวที่อยู่ในความดูแล

พูดง่ายๆ คุณไม่ได้เลี้ยงดูใคร ถ้าตายเขาก็อยู่กันได้ หาเลี้ยงตัวเองกันได้ หนี้สินก็ไม่ได้ส่งต่อไปให้ใคร การทำประกันชีวิตก็อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นสักเท่าไหร่

ดังนั้น สำหรับคนที่มีภาระและความเสี่ยงทางการเงินกรณีเสียชีวิต ผมจะแนะนำให้ทำประกันชีวิตกันแทบทุกคน ส่วนจะซื้อมากซื้อน้อยนั้นแล้วแต่ภาระของแต่ละคน ซึ่งในกรณีดังกล่าว ผู้ทำประกันจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีไปด้วยโดยปริยาย

นั่นคือ เบี้ยประกันชีวิตสามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท ตามเงื่อนไข ดังนี้

สำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยส่วนแรกหักได้ 10,000 บาท ส่วนที่เกิน 10,000 บาท หักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร (ที่มา : เว็บไซต์กรมสรรพากร)

แต่ถ้าเป็นการซื้อโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดหย่อนภาษี ผมมีคำถามเพื่อใช้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ ดังนี้ครับ

1. อัตราภาษีสูงสุดของคุณเป็นเท่าไหร่

ถ้าอัตราภาษีไม่ถึง 20 % ผมไม่ค่อยแนะนำครับ เพราะถ้าคุณไม่มีความเสี่ยงทางการเงินกรณีเสียชีวิต การซื้อประกันเพื่อหวังเงินลดหย่อนภาษี อาจเป็นการสร้างภาระที่เกินตัว หรือเกินอัตรารายได้จนเกินไป

คุณมีความสามารถส่งเบี้ยประกันได้ตามเงื่อนไขกรมธรรม์หรือไม่

ทั้งนี้เพราะการซื้อประกันชีวิตนั้น คุณจะต้องส่งเบี้ยต่อเนื่องหลายปี (ยกเว้น ประกันแบบ Single Premium) ซึ่งโดยปกติแล้วจะอยู่ในช่วง 5-20 ปี
บางกรมธรรม์ต้องส่งตลอดอายุกรมธรรม์เลยทีเดียว

ดังนั้นความรู้สึกอยากลดภาษีในบางปีที่มีรายได้สูง อันเนื่องมาจากโบนัสหรือคอมมิชชั่นเยอะในปีนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาให้ดี และตอบตัวเองให้ได้ว่า ปีหน้าจะมีเงินส่งเบี้ยประกันหรือเปล่า

มีคนจำนวนไม่น้อยละเลย คิดเอาว่าขอประหยัดภาษีปีนี้ก่อน ปีหน้าค่อยว่ากัน เพราะประกันนั้นไม่มีการริบหรือเรียกสิทธิประโยชน์คืน หากยกเลิกกรมธรรม์ ซึ่งต่างจากกองทุนรวม

วิธีคิดนี้ไม่น่าจะถูกต้องสักเท่าไหร่ครับ และถ้าลองคำนวณกันดีดีรับประกันได้เลยว่า คุณขาดทุนแน่นอน เพราะคุณจ่ายเพื่อความเสี่ยงที่ไม่จำเป็น แถมยังไม่สามารถส่งต่อได้จนครบกำหนด อย่างนี้เสียมากกว่าได้นะครับ

คำถาม : แล้วถ้าไม่มีความเสี่ยง เสียภาษีก็แค่ 10% แต่มีเงินเหลือ อยากส่งประกันปีละ 100,000 ล่ะ มีอะไรมั้ย?

คำตอบ : ถ้าเหลือกินเหลือใช้ และส่งไหวทุกปี อันนี้ก็ต้องแล้วแต่พี่ครับ

ถ้ามองกันในเรื่องความเสี่ยง ผมมองว่ามีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี นั่นคือ ประกันแบบบำนาญ ครับ

ประกันชีวิตแบบทั่วไป (ตลอดชีพ / ออมทรัพย์ / ระยะเวลา) กับประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นแบบประกันที่มีวัตถุประสงค์ต่างกัน ประกันชีวิตนั้นมุ่งเน้นจัดการความเสี่ยงทางการเงินกรณีเสียชีวิต (ตายแล้วคนข้างหลังเป็นอย่างไร) แต่ประกันแบบบำนาญนั้นมุ่งจัดการความเสี่ยงทางการเงิน กรณีรายได้หายไปหลังเกษียณ (ไม่ตายแล้วจะอยู่ยังไง ถ้าไม่มีเงิน)

ในมุมมองของผม คนแต่ละคนมีภาระทางการเงินไม่เหมือนกัน ดังนั้น ความเสี่ยงทางการเงินกรณีเสียชีวิต อาจไม่ได้มีกันทุกคน (ในแต่ละจังหวะเวลา) แต่ทุกคนมีความเสี่ยงเรื่องการไม่มีเงินใช้หลังเกษียณอย่างแน่นอน หากไม่มีการวางแผนเกษียณเอาไว้

ผมจึงมองว่า ประกันชีวิตแบบบำนาญจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ให้สิทธิประโยชน์

ข้อเสียของประกันแบบดังกล่าวก็คือ สภาพคล่องของเงินซึ่งน่าจะละเลยไปได้ เพราะเราต้องการเก็บเงินไว้กินตอนแก่อยู่แล้ว อีกเรื่องคือ ต้นทุนหรือเบี้ยประกันที่สูงพอสมควร ดังนั้นผู้ซื้อประกันต้องพิจารณาตรงนี้ให้ดี อย่าห่วงอนาคตและงกภาษี จนลืมเงินใช้จ่ายกินอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น ประกันแบบบำนาญสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท

แต่ต้องพิจารณาให้ดี เพราะสรรพากรท่านกำหนดไว้ว่า ต้องซื้อไม่เกิน 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อนำเงินที่ซื้อประกัน (เบี้ย) ไปรวมกับเงินที่สะสมเข้า (1) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (2) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (3) เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ หรือ (4) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ให้ง่ายก็คือ ต้องพิจารณาเงินลดหย่อนด้านอื่นๆด้วย ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาจ่ายเบี้ยเพิ่ม 200,000 บาท แล้วหวังจะได้ลดหย่อนทั้งจำนวน

สำคัญที่สุด สำหรับการวางแผนทางการเงิน ก็คือ คุณเองต้องเป็นผู้เลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง อย่าให้ใครมาชี้นำ จนทำให้แผนการเงินของคุณขาดความสมดุล ทุ่มเงินไปกับอนาคต หรือสิทธิประโยชน์ที่อยู่ตรงหน้า จนมองข้ามภาพรวมทางการเงินของเราไปครับ

พบกันฉบับหน้าครับ

http://www.naewna.com/business/columnist

Iservice อีกหนึ่งบริการจากไทยประกันชีวิต


         บริการออนไลน์ที่เพิ่มความสะดวกสบายให้คุณยิ่งขึ้น โดยคุณสามารถสมัครใช้บริการต่าง ๆ ที่น่าสนใจของไทยประกันชีวิต ได้อย่างง่ายดายผ่านทางเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็น การดูข้อมูลกรมธรรม์ การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ การขอใบแจ้งชำระเบี้ยประกัน การขอหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันเพื่อลดหย่อนภาษี และบริการอื่นอีกมากมาย